กาบัดดี้

กีฬากาบัดดี้เป็นกีฬาพื้นบ้านมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน มักเล่นกันทั่วไปในแถบเอเชียเขตร้อน โดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้ที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย แต่ชื่อเรียกแตกต่างกันไป คือ บังคลาเทศ เรียกว่า ฮาดูดู, อินเดียและปากีสถาน เรียกว่า กาบัดดี้, ศรีลังกา เรียก กูดู ,เนปาล เรียก โดโด ,มาเลเซีย เรียก ชิดูกูดู หรือไทยเองจะเรียกว่า ตี่จับ นั่นเอง

โดยประเทศอินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน และศรีลังกา ได้ร่วมกันก่อตั้ง สหพันธ์กาบัดดี้สมัครเล่นแห่งเอเชีย ( A.A.K.F. ) ขึ้นในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1978 แต่กาบัดดี้เพิ่งจะถูกบรรจุให้จัดการแข่งขันในมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 11 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี ค.ศ.1990 โดยครั้งแรกนั้นมี 6 ชาติส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันคือ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และเนปาล แต่เนื่องจากเป็นกีฬาใหม่คนจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก

จนกระทั่งในเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 12 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น กีฬากาบัดดี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก เนื่องจากดูแล้วสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ และยังได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์กาบัดดี้สมัครเล่นแห่งเอเชีย (A.A.K.F.), สมาคมกาบัดดี้ ญี่ปุ่น (J.A.K.A.) และสหพันธ์โอลิมปิกแห่งเอเชีย (I.O.A.) จนได้มีการจัดแข่งขัน กาบัดดี้ ประเภทชายตลอดในการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ซึ่ง 5 ครั้งที่ผ่านมา อินเดียคว้าเหรียญทองมาครองได้ทั้งหมด ขณะที่ประเภทหญิงเพิ่งถูกบรรจุให้มีการแข่งขันครั้งแรกในปี 2010 ที่กวางโจวเกมส์ ซึ่งทีมชาติไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน และได้เข้าชิงเหรียญทองกับอินเดียด้วย

นอกจากนี้ กีฬากาบัดดี้ยังถูกบรรจุในการแข่งขันมหกรรมกีฬาของเอเชียอื่น ๆ ด้วย เช่น เอเชี่ยนอินดอร์เกมส์ เอเชี่ยนบีชเกมส์ รวมทั้งยังมีการจัดแข่งขันกาบัดดี้ เวิล์ดคัพ ทุก 3 ปีครั้ง เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 ปัจจุบัน กีฬากาบัดดี้เริ่มแพร่หลายไปยังทวีปยุโรปมากขึ้น โดยพบว่า ในประเทศรัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ก็นิยมเล่นกาบัดดี้ เช่นเดียวกับประเทศในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

วิธีการเล่น-กติกา กาบัดดี้ แบบคร่าว ๆ

รู้จักประวัติของกาบัดดี้กันไปแล้ว ก็มาทำความรู้จักกติกา กาบัดดี้ กันหน่อยดีกว่า โดยสนามแข่งขันประเภทชายจะกว้าง 10 เมตร ยาว 13 เมตร จำกัดน้ำหนักไม่เกิน 80 กิโลกรัม ส่วนประเภทหญิง สนามกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร จำกัดน้ำหนักไม่เกิน 70 กิโลกรัม

กาบัดดี้ จะแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ครึ่ง แข่งขันครึ่งละ 20 นาที พักครึ่งไม่เกิน 5 นาที ผู้เล่นจะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 7 คน (มีผู้เล่นสำรองฝ่ายละ 5 คน รวมทั้งทีม 12 คน) แต่ละฝ่ายจะผลัดกันเป็นฝ่ายรุก และฝ่ายรับ หากเป็นฝ่ายรุก ผู้เล่น 1 คนของฝ่ายรุกจะต้องเดินไปยังฝั่งตรงข้าม ส่วนฝ่ายรับ 7 คนจะต้องยืนจับมือเรียงกันเป็นแถวไว้ คอยต้อนไม่ให้คนรุกกลับเข้าไปในแดนของตัวเอง หรือสามารถแตะเส้นกลางสนามได้

ขณะที่ผู้รุกเอง หากเดินเลยเส้นกลางสนามไปแล้ว ต้องเปล่งเสียง “กาบัดดี้” ตลอดช่วงการหายใจครั้งเดียว และต้องพยายามแตะตัวฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งกลับไปแตะเส้นกลางสนามให้ได้ หากผู้เล่นฝ่ายรุกคนนั้นใช้เวลารุกนานกว่า 30 วินาที ไม่กลับแดนของตัวเอง ฝ่ายรับจะได้คะแนนทางเทคนิค 1 คะแนนทันที

หากผู้รุกถูกฝ่ายรับจับ หรือหยุดเปล่งเสียงกาบัดดี้ ผู้รุกคนนั้นจะต้องออกจากสนามมานั่งพัก ให้ผู้รุกคนอื่นเล่นต่อไป โดยสลับเป็นฝ่ายรับบ้าง ส่วนฝ่ายรับหากเล่นอันตราย หรือทำผิดกติกาก็จะถูกให้ออกจากการแข่งขันเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้เล่นจะกลับเข้ามาเล่นได้ใหม่ ก็ต่อเมื่อผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามถูกประกาศให้ออกจากการแข่งขัน โดยจะกลับเข้ามาได้ในจำนวนที่เท่ากับฝ่ายตรงข้ามถูกให้ออก แต่หากเป็นการแข่งขันในช่วงต่อเวลาพิเศษเพื่อหาผู้ชนะ จะไม่มีการให้ผู้เล่นกลับเข้ามาในสนามได้

แต่หากทีมใดเหลือผู้เล่นในสนาม 1 หรือ 2 คน ผู้ฝึกสอนสามารถแจ้งกรรมการขอเอาผู้เล่นออก เพื่อจะเริ่มเกมใหม่ 7 คนได้ โดยทีมนั้นจะเสียคะแนน 1 คะแนนต่อผู้เล่น 1 คน และต้องเสียคะแนนล้างทีมอีก 2 คะแนน เพื่อเริ่มเกมใหม่

การได้คะแนน 
- หากฝ่ายรับจับผู้รุกไว้ได้ในแดนของฝ่ายรับ จะได้รับ 1 คะแนน
- ผู้รุกที่รุกโดยไม่ผิดกติกา และทำให้ฝ่ายรับออกจากการเล่นได้ จะได้ 1 คะแนน
- ผู้รุกสามารถข้ามเส้นคะแนนพิเศษ (Bonus Line) จะได้ 1 คะแนน
- ผู้รุกสามารถข้ามเส้นคะแนนพิเศษ (Bonus Line) โดยไม่ได้สัมผัสหรือต่อสู้กับฝ่ายรับจะได้ทันที 1 คะแนน
- หากทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามถูกประกาศออกจากสนามจนหมดจะได้ 2 คะแนน
- เมื่อทีมทำให้ผู้เล่นของฝ่ายตรงข้ามทั้งหมดถูกประกาศให้ออก และไม่มีผู้เล่นคนใดในทีมกลับมาเล่นใหม่ได้ ทีมนั้นก็จะได้คะแนนล้างทีม (Lona) 2 คะแนน

ประโยชน์ของ กาบัดดี้

กาบัดดี้ ถือเป็นกีฬาที่เล่นง่าย สนุกสนาน และเสียค่าใช้จ่ายน้อย แรกเริ่มกีฬากาบัดดี้ถูกคิดค้นขึ้นมา เพื่อฝึกความคล่องแคล่วว่องไว ในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม นักกีฬากาบัดดี้จะได้ฝึกฝนทักษะการต่อสู้ ความฉลาดและไหวพริบ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทั้งขณะที่เป็นฝ่ายรุก และตั้งรับ รวมทั้งยังได้ฝึกพลังปอด อวัยวะภายใน เนื่องจากขณะออกเสียง “กาบัดดี้” หัวใจ ปอด อวัยวะภายในจะได้ทำงาน ส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีด้วย

สำหรับนักกีฬากาบัดดี้สาวไทยนั้น เคยสร้างผลงานเยี่ยม คว้าเหรียญเงินในการแข่งขันกีฬาเอเชียนบีชเกมส์ ที่บาหลี อินโดนีเซียมาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน และการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ นักปล้ำสาวไทยล้วนเป็นเด็กใหม่อายุไม่ถึง 20 ปี แถมยังฟอร์มร้อนแรง เชื่อว่าจะสามารถต่อสู้กับทีมอินเดียในรอบชิงเหรียญทองได้อย่างสนุกแน่นอน